ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา 1. ทบทวนกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่อนุรักษ์ เช่น พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อุทยานฯ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เช่น กรณีสภาพพื้นที่จริงถูกบุกรุก แผ้วถาง จนไม่เหลือสภาพป่า แต่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ หรือเขตพื้นที่ประกาศเป็นอุทยานฯ ต้องนำเงินงบประมาณมาใช้ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควรมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่สามารถพิจารณายกเว้นพื้นที่เหล่านี้เพื่อให้ขั้นตอนการขออนุญาตรวดเร็วขึ้น 2. ควรขยายผลโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชโดยที่ไม่ทำลายป่าไม้ และยังช่วยลดปัญหามลพิษหมอกควัน 3. นำมติของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2561 มาเป็นหลักและเครื่องมือในการดำเนินการ สำรวจตรวจสอบ รังวัดและจัดทำผังแปลงที่ดิน วางแผนและกำหนดความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน การจัดการเขตที่ดินให้เกิดความชัดเจนตามมาตรการและข้อกฎหมายที่มีอยู่ 4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล ที่มีประกอบนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนผู้แทนเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ในการแต่งตั้ง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 4.1 ตรวจสอบ รังวัดและจัดทำผังแปลงที่ดินพื้นที่ของราษฎรแต่ละรายในพื้นที่จริง รังวัดแปลงที่อยู่อาศัย/ทำกิน โดยใช้ GPS ในการจับพิกัด ร่วมกับคนในชุมชนนั้นๆ นำผลการรังวัดไปจัดทำผังแปลงที่ดินลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ที่ถ่ายในปี พ.ศ.2545 ใช้มาตราส่วน 1:4000 รายแปลง 4.2 จัดทำฐานข้อมูล ทะเบียนรายชื่อสมาชิกในชุมชนผู้ครอบครองที่ดิน ทำขอบเขตให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการควบคุมพื้นที่ โดยจัดทำเป็นระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์(GIS Application) แล้วให้คณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล พิจารณาจัดตั้งเป็นชุมชนเพื่อนำไปสู่ผังที่ดินแปลงรวมทั้งตำบลตามเขตการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำผลที่ได้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขออนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล เช่าพื้นที่ตามผังที่ดินแปลงรวมเพื่อจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนต่อคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (ตามมติ คทช. ครั้งที่ 2/2561) 4.3 จัดทำระเบียบว่าด้วยการเช่าที่ทำกินและที่อยู่อาศัยชุมชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่าที่ดินจาก คทช. ในลักษณะแปลงรวม ระยะเวลาการอนุญาต 30 ปีเขตป่าสงวนแห่งชาติ และ 20 ปีในเขตอุทยานแห่งชาติ จากนั้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินระดับตำบล จัดทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินแก่สมาชิกในชุมชนตามผังรายแปลงตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมรายปี โดยใช้อัตราค่าเช่าของกรมธนารักษ์ในการเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมเป็นเกณฑ์โดยอนุโลม ให้สมาชิกชำระค่าธรรมเนียมรายปีโดยชำระที่สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าธรรมเนียมที่ได้ให้ถือเป็นรายได้ของท้องถิ่น โดยกำหนดแบ่งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกึ่งหนึ่ง และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำส่งเป็นรายได้ของหน่วยงานกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืชแล้วแต่กรณีว่าที่ดินเป็นเขตใดอีกกึ่งหนึ่งเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ทั้งนี้ ในระเบียบดังข้างต้นให้มีหลักสำคัญในการดำเนินงาน ดังนี้ 1) จะต้องเป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์ หรือ อยู่อาศัย/ทำกินอยู่แล้วอย่างต่อเนื่องอยู่เดิมแล้ว มิใช่พื้นที่แผ้วถางเพิ่มเติมหรือเปิดพื้นที่ใหม่ และ ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้นที่ มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเป็นการให้สิทธิทำกินโดยการให้เป็นหนังสือสัญญาอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อการยังชีพที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่การให้เอกสารสิทธิ 2) ลักษณะพื้นที่ที่ทำการตรวจสอบรังวัดต้องเป็นไปเพื่อการอยู่อาศัยหรือทำกินโดยสมควรแก่การดำรงชีพ 3) หนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมที่ต้องการทำการประกอบอาชีพและอยู่อาศัยต่อจากผู้ได้รับสัญญาอนุญาต 4) สมาชิกทุกคนต้องฟื้นฟูสภาพป่าในรูปแบบการมีส่วนร่วม เช่นส่งเสริมการทำแปลงป่าไม้ตามพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง #สภาเกษตรกรแห่งชาติ อ่านเพิ่มเติม https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000031233#news_slideshow
This content is created by the open source Your Priorities citizen engagement platform designed by the non profit Citizens Foundation